โรคนิ่ว

 

★★ 5 เรื่องนิ่ว ที่ไม่ชิวอีกต่อไป!! ★★

ใครๆ ก็คงเคยได้ยินคำว่า “โรคนิ่ว” มาก่อน โรคนิ่วสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะการรักษาน้องหมาน้องแมวที่ก้าวหน้าขึ้นในปัจจุบัน ทำให้สามารถตรวจพบโรคนิ่วได้มากขึ้น คำว่า “นิ่ว” หมายถึงการสะสมของตะกอนแร่ธาตุจนเกิดเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งสามารถเกิดได้หลายส่วนเลย ทั้งในไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ไปจนถึงท่อปัสสาวะ ที่สำคัญคือเพราะน้องหมาน้องแมวพูดไม่ได้ เหล่าคุณเจ้าของทุกท่านจึงต้องคอยทำตัวเป็นนักสืบ สังเกตสัญญาณเตือนโรคนิ่วเป็นประจำ เพราะถ้าพบสัญญาณเหล่านี้... ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพราะว่าน้องหมาน้องแมวอาจจะเริ่มมีปัญหาโรคนิ่วหรือระบบทางเดินปัสสาวะแล้วนั่นเอ

★★ 1. ยอดนักฉี่ : ถ้าพบว่าน้องหมาน้องแมวที่บ้านฉี่บ่อยมากกว่าปกติ วันหนึ่งมากกว่า 5 – 6 ครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะยิ่งฉี่บ่อยแต่ฉี่ทีละนิด มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีก้อนนิ่วอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เก็บฉี่ได้น้อยลง เลยทำให้ต้องฉี่ทีละน้อยแต่บ่อยๆ นั่นเอง

★★ 2. ฉี่แบบหน่อยๆ กระปริดกระปรอยนิดๆ : ถ้าพบว่าน้องเขาฉี่ดูกระปริดกระปรอย ฉี่ทีละนิดทีละหน่อย ก็แสดงว่าอาจมีการอักเสบหรืออุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นบางส่วน ต้องลองพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป

★★ 3. ฉี่สีแดงแรงสามเท่า : ถ้าพบว่าปัสสาวะของน้องมีสีผิดปกติ เช่นสีแดง แสดงว่าอาจจะมีเลือดปนมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีอย่างแน่นอน
รวมไปถึงถ้าปัสสาวะข้นขุ่น หรือฉี่สีเข้มมาก ก็ต้องมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

★★ 4. ปวดเกร็ง สายเบ่งจัง : น้องบางตัวกว่าจะฉี่ได้ต้องนั่งรวบรวมลมปราณทั้งเกร็งทั้งเบ่งอยู่นาน ถ้าคุณน้องที่บ้านมีอาการเหล่านี้ ขอให้ระวังเพราะการปวดเกร็งและปวดเบ่งตอนฉี่นั้นอาจเกิดขึ้นได้จากก้อนนิ่วอุดตันระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ฉี่ไม่ออกนั่นเอง

★★★ 5. ไม่ฉี่ ! : ถ้าพบว่าน้องที่บ้านไม่ฉี่เลย หรือฉี่ไม่ออกในหนึ่งวัน ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน เพราะเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษาทันที อาจมีสาเหตุมาจากนิ่วอุดตันระบบทางเดินปัสสาวะโดยสมบูรณ์ จนฉี่ไม่ออก ซึ่งอาจจะทำให้กระเพาะปัสสาวะแตกและเสียชีวิตได้

 

✚✚  7 ปัจจัยเสี่ยงสร้างนิ่ว! รู้แล้วต้องรีบแก้!  ✚✚

โรคนิ่วนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง และการเลี้ยงดูของเจ้าของล้วนแล้วแต่มีผลต่อความเสี่ยงโรคนี้ทั้งสิ้น วันนี้เรามาทำความรู้จักต้นเหตุเหล่านี้ เพื่อจะได้ป้องกันน้องหมาน้องแมวของเราให้ห่างไกลจากโรคนิ่วกันดีกว่า

✚ 1. อาหาร : เพราะนิ่ว คือการจับตัวเป็นก้อนของแร่ธาตุที่มากเกินไปในทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดการอุดตัน และอักเสบขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการให้อาหารปรุงเอง หรืออาหารที่มีแร่ธาตุไม่เหมาะสมกับน้องหมาน้องแมว จะทำให้มีแร่ธาตุส่วนเกินนี้มากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของโรคนิ่วได้ ทางที่ดีคือควรเลือกอาหารที่มีงานวิจัยรับรอง และให้สูตรอาหารตรงตามความต้องการช่วงวัยและสายพันธุ์จะดีกว่า

✚ 2. การให้น้ำ : โดยปกติน้องหมาควรได้รับน้ำประมาณ 50-70 มล./กก./วัน ส่วนแมวควรได้รับน้ำประมาณ 50-60 มล./กก./วัน ถ้าน้องหมาน้องแมวได้รับน้ำไม่เพียงพอหรือไม่ค่อยยอมกินน้ำ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วมากขึ้น รวมไปถึงคุณภาพของน้ำที่ให้ ถ้าเป็นน้ำที่ไม่สะอาด น้ำกระด้าง น้ำบาดาลที่มีแร่ธาตุอื่นๆ เจือปนสูง ก็ทำให้น้องๆ มีโอกาสเป็นนิ่วได้เช่นกัน

✚ 3. อ้วน : แม้ความอ้วนจะน่ารักในสายตาคุณเจ้าของ แต่อาจเป็นภัยร้ายสำหรับน้องหมาน้องแมวโดยเฉพาะโรคนิ่ว เพราะอ้วนแล้วจะไม่ค่อยขยับตัว การอยู่กับที่นานๆบวกกับอาหารที่ไม่สมดุลจะทำให้นิ่วก่อตัวได้ง่าย ดังนั้นอย่าตามใจให้อาหารน้องหมาน้องแมวมากจนเกินไปจนพวกเขาอ้วนนะ เพราะนอกจากโรคนิ่วจะถามหาแล้ว ทั้งโรคไขข้อ เบาหวาน และโรคร้ายต่างๆ ยังตามมาอีกเป็นกองเลย

✚ 4. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ : ทั้งน้องหมาและน้องแมวที่อั้นฉี่เป็นระยะเวลานานๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และนิ่วตามมาได้ รวมไปถึงน้องหมาน้องแมวเพศเมียที่มีท่อปัสสาวะสั้นและกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อและเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายกว่าอีกด้วย

✚ 5. เลี้ยงในบ้าน : เพราะน้องหมาที่เลี้ยงในบ้าน ออกกำลังกายน้อย และถูกขังในบ้านนานๆ ทำให้อั้นฉี่เป็นประจำจนเป็นนิสัย ซึ่งการอั้นฉี่นี้เป็นเหตุทำให้เกิดนิ่วตามมาได้ ดังนั้นแม้จะเลี้ยงในบ้านแต่อย่าลืมพาน้องออกไปเดินเล่นและฝึกหัดให้ปัสสาวะไม่อั้นฉี่นานๆนะ

✚ 6. กระบะทรายไม่เพียงพอ : อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากๆสำหรับน้องแมวเลย หลายคนตอนนี้คงท่องสมการกระบะทรายแมวกันได้ขึ้นใจแล้ว แน่นอนว่าแมวแต่ละตัวควรมีกระบะทรายเป็นของตัวเองและมีอีกหนึ่งกระบะหนึ่งเอาไว้เสริม การมีกระบะทรายน้อยเกินไป อาจทำให้แมวแย่งกันใช้ ส่งผลให้แมวเครียด จนทำให้เหมียวรักสะอาดบางตัวอั้นฉี่ ไม่ยอมฉี่ก็เป็นได้ ซึ่งทั้งความเครียดและการอั้นฉี่ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงชั้นดีที่ทำให้เกิดโรคนิ่วตามม

✚ 7. เครียด : ทั้งน้องหมาน้องแมวที่เครียดมากเกินไป มีโอกาสเกิดนิ่วมากกว่าปกติ เนื่องจากจะมีขับถ่ายปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้กลายเป็นนิ่วตามมา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดนั้นมีอยู่มากมาย แต่เราอยากให้ระวังในแมวเป็นพิเศษเพราะแมวเป็นสัตว์ที่เครียดง่าย ทั้งกระบะทรายไม่เพียงพอ สถานที่เลี้ยงมีแมวอยู่แออัดมากไป หรือไม่มีมุมสงบให้พักผ่อน มีผู้คนพลุกพล่านบริเวณที่แมวอยู่ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้แมวเครียดได้ทั้งนั้น

 

  ไม่ใช่ว่า “นิ่ว” ก็เหมือนกันหมดนะ นิ่วต่างชนิด ต่างวิธีรักษา!

“นิ่ว” คำที่เราได้ยินจนคุ้นหูนั้น แม้จะเป็นนิ่วเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วยังถูกแบ่งย่อยออกได้หลายชนิด ซึ่งมีความสำคัญกับการรักษาที่แตกต่างกัน แม้เนื้อหาเรื่องนิ่วแต่ละชนิดอาจจะฟังดูยากเสียหน่อย แต่ถ้าลองอ่านดูเพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติม จะช่วยให้เราเข้าใจว่านิ่วแต่ละชนิดเกิดจากอะไรและแนวทางการรักษาที่ถูกต้องควรทำอไรบ้าง เพียงแค่เรารู้ชนิดของนิ่ว เราก็จะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดแล้ว

1. นิ่วสตรูไวท์
เป็นนิ่วที่เกิดจากแร่ธาตุในกลุ่ม แมกนีเซียม แอมโมเนีย และฟอสเฟต จับตัวกันเป็นก้อนในปัสสาวะที่มีความเป็นด่าง (pH สูง) มักพบนิ่วชนิดนี้ในน้องหมาน้องแมวที่มีปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection; UTI) ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากปล่อยไว้นานอาจทำให้เป็นนิ่วตามมาได้นั่นเอง ดังนั้นการเพิ่มการกินน้ำ ควบคุมการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสม เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับนิ่วชนิดนี้

2. นิ่วแคลเซียมออกซาเลท
เกิดจากแร่ธาตุในกลุ่มของแคลเซียม และ ออกซาเลทในปัสสาวะ มีความเข้มข้นสูง ดังนั้นการให้อาหารที่ควบคุมปริมาณแคลเซียมและออกซาเลทจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในการจัดการนิ่วชนิดนี้ นอกจากนั้นการเพิ่มการกินน้ำก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางลดความเสี่ยงการเกิดนิ่ว โดยต้องอยู่ในความควบคุมของคุณหมอ เพื่อให้ปริมาณแร่ธาตุในร่างกายสมดุล และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านอื่นต่อร่างกายตามมา

3. นิ่วยูเรต
นิ่วชนิดนี้พบได้ในน้องหมาน้องแมวที่มีภาวะ กรดยูริค หรือ ยูเรต สูง เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับตับ หรือจากปัญหาทางสายพันธุ์ในน้องหมา ได้แก่ ดัลเมเชียนและอิงลิช บูลด็อก แม้จะเป็นนิ่วที่มากับกรรมพันธุ์ แต่เราสามารถช่วยน้องๆได้เพียงแค่จัดการเรื่องสารอาหารควบคู่ไปกับการให้ยาเพื่อรักษา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก fb : RoyalCaninThailand