โรคเบาหวาน เป็นโรคของความผิดปกติของต่อมไร้ท่อโรคหนึ่งที่พบได้มากในแมวสูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมวที่อ้วนเกิน โรคนี้จะทำให้สัตว์มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งถูกสร้างจากตับอ่อนนั้นมีน้อยหรือไม่มีการสร้างเลยหรืออาจมีการสร้างได้แต่ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ลดลงจากเดิม ทำให้ขบวนการเผาผลาญ และสะสมน้ำตาลเพื่อมาใช้เป็นพลังงานได้ลดลง เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอ จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
โดยทั่วไปแล้วโรคเบาหวานที่พบในแมวมักจะเป็นชนิดที่สอง ที่เกิดจากความดื้อในการตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน (insulin resistance; non-insulin dependent)
อาการที่สำคัญในแมวป่วยด้วยโรคเบาหวานที่ไม่พบอาการอื่นแทรกซ้อน คือ
- มีภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่อดอาหาร
- กินน้ำเยอะขึ้น
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- หิวบ่อย กินอาหารเก่งแต่น้ำหนักลดลง
- กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ขาหลังอ่อนแรง
การตรวจวินิจฉัย
งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และวัดระดับน้ำตาลในปัสสาวะ โดยค่าน้ำตาลในกระแสเลือดปกติของแมว ไม่ควรเกิน 200-250 แต่เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่เกิดความเครียดได้ง่ายมาก และความเครียดในแมวเหนี่ยวนำทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านโดยทันที
บทความโดย
สพ.ญ.มนัสนันท์ สังขพิทักษ์ (หมอจอย)
สัตวแพทย์อายุรกรรมทั่วไปและคลินิกแมว รพส.สัตวแพทย์4 (vet4hospital)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://vet4hospital.blogspot.com
โรคเบาหวานในแมว
โดยมากแล้วโรคเบาหวานที่เกิดในแมวมักจะมีความคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่2 ของมนุษย์ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นเนื่องจากแมวไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเพียงพอหรือผลิตแล้วแต่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าหากว่าไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้
แมวตัวผู้ที่อ้วนและอายุกลางคน ถูกเลี้ยงอยู่ในบ้านจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคเบาหวานสามารถเกิดได้กับแมวทุกตัวในทุกช่วงอายุ มีความเป็นไปได้ที่แมวของคุณจะไม่ต้องได้รับอินซูลินไปตลอดชีวิตถ้าหากว่าได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก และระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาคงที่ได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่จะต้องทำการสังเกต
- ดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจพบว่ามีการถ่ายนอกกระบะทราย
- ในช่วงแรกจะเพิ่มความอยากอาหาร และในช่วงหลังจะลดความอยากอาหาร
- น้ำหนักลด
- ซึม อ่อนแรง
- อาเจียน
ในบางครั้งอาจพบว่าแมวจะมีการยืนและเดินบนข้อเท้าของมัน ซึ่งถือว่าเป็นอาการของโรคเบาหวานขึ้นสมอง ถ้าหากว่าไม่ได้รับการรักษาเบาหวานเป็นเวลานาน จะมีการพัฒนาไปเป็นเบาหวานเป็นพิษ โดยแมวที่มีภาวะเบาหวานเป็นพิษนั้นจะไม่สามารถกินและดื่มน้ำได้ ทำให้แมวเกิดภาวะแห้งน้ำและยิ่งอ่อนแรงมากขึ้น และถ้าหากว่าไม่ได้รับการรักษาที่ทันถ่วงทีอาจทำให้แมวเสียชีวิตได้
สาเหตุหลักของการเกิดโรคเบาหวานในแมว
แมวไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอหรือผลิตแต่ไม่สามารถทำงานได้
การดูแลโดยทันที
ถ้าหากว่าคุณสงสัยว่าแมวของคุณจะเป็นโรคเบาหวาน คุณควรที่จะรีบทำนัดเพื่อพบสัตวแพทย์ ในขณะเดียวกันควรให้น้ำแก่สัตว์เท่าที่สัตว์ต้องการ
การวินิจฉัยโรคเบาหวานในแมว
หลังจากทำการตรวจร่างกายและปรึกษาเรื่องอาการสัตว์แล้ว สัตวแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะไปตรวจสอบ เพื่อเช็คระดับน้ำตาลในเลือดและในปัสสาวะ รวมถึงสัตวแพทย์จะทำการตรวจหาหลักฐานของโรคอื่นที่มีความใกล้เคียงกับโรคเบาหวาน เช่น โรคไต หรือ โรคไฮเปอร์ไทรอยด์
สัตว์จะต้องได้รับการตรวจภาวะต่างๆที่จะเกิดแทรกซ้อนกับการรักษา เช่น การติดเชื้อ หรือ ภาวะเบาหวานเป็นพิษ ซึ่งถ้าหากพบ สัตว์ควรที่จะพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
การรักษาแมวที่เป็นโรคเบาหวาน
จุดประสงค์หลักในการรักษา คือ การที่แมวไม่มีอาการของโรคเบาหวานและมีระดับของน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ การที่จะบรรลุจุดประสงค์นั้นแมวแต่ละตัวจะมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละตัว
ถ้าหากว่าแมวของคุณมีอาการของภาวะเบาหวานเป็นพิษ แมวจะต้องทำการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและทำการให้ฮอร์โมนอินซูลินเข้ากระแสเลือดร่วมกับการให้สารน้ำจนกว่าการกินและระดับน้ำตาลในเลือดจะคงที่จึงจะสามารถเปลี่ยนมาให้อินซูลินผ่านทางใต้ผิวหนังได้ การติดเชื้อนั้นจะรบกวนการใช้ glucose ดังนั้น ถ้าหากว่าสัตว์มีการติดเชื้อ สัตว์ควรที่จะต้องรักษาการติดเชื้อเป็นอันดับแรก
เมื่อสามารถยืนยันการวินิจฉัย และภาวะเบาหวานเป็นพิษและการติดเชื้อสามารถควบคุมได้ จะมีการรักษาโดยการให้อินซูลินที่บ้าน สัตวแพทย์จะทำการบอกขั้นตอนและสาธิตวิธีการให้อินซูลินกับแมวขณะอยู่ที่บ้าน อินซูลินที่นิยมใช้ ได้แก่ glargine และ PZI โดยจะทำการฉีดใต้ผิวหนัง วันละสองครั้ง
ถ้าหากคุณคิดว่าแมวได้รับอินซูลินในปริมาณที่มากเกินไป ให้ทำการให้น้ำเชื่อมข้าวโพดเข้าทางปากของแมว และถ้าหากว่าสัตว์ไม่สามารถที่จะกลืนได้ ให้ถูน้ำเชื่อมบริเวณเหงือกแทน
หลังจากที่แมวได้รับการรักษาด้วยอินซูลินไปประมาณ 1 อาทิตย์ จะมีการวัดระดับของน้ำตาลในเลือดมาวาดเป็นกราฟ โดยจะอาศัยอาการของสัตว์และผลจากการตรวจ แล้วนำมาปรับขนาดของอินซูลิน และทำการวาดกราฟน้ำตาลในเลือดใหม่อีกครั้ง จะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการของเบาหวานและระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ในระดับที่สามารถรับได้
การรักษาจะรวมถึงการเปลี่ยนอาหารของแมวเป็นสูตรโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำด้วยถ้าหากเป็นไปได้ รวมถึงถ้าแมวอ้วนควรที่จะทำการลดน้ำหนักด้วยเช่นกัน
สาเหตุอื่นของการเกิดเบาหวาน
ให้แมวกินอาหารของคนมากเกินไป จะเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของตับอ่อน ซึ่งเป็นบริเวณที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน อาจทำให้มีการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนได้ หรือการใช้นากลุ่มเสตียรอยด์ที่นานเกินไปก็สามารถเป็นสาเหตุเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบาหวานได้
การจัดการและความเป็นอยู่ของแมวที่เป็นโรคเบาหวาน
การที่มีแมวป่วยเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานนั้น คุณจะต้องให้ความดูแลตลอดเวลา เนื่องจากต้องได้รับการฉีดอินซูลินอย่างน้อยวันละสองครั้ง โดยมากแล้วมักฉีดตลอดชีวิต ร่วมกับการตรวจเลือดเป็นประจำ
คุณเจ้าของควรเรียนรู้วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่บ้าน โดยจะทำการเจาะที่บริเวณใบหูเพื่อให้ได้เลือดมา1หยด เหมือนกับในคนที่ทำโดยการเจาะบริเวณนิ้วมือ โดยวิธีนี้ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องประหยัดเวลาและค่ารักษา แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ได้ผลลัพธ์ที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากความเครียดจากการเดินทางมาพบสัตวแพทย์นั้นสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้ คุณเจ้าของอาจที่จะสามารถทำกราฟระดับน้ำตาลที่บ้านได้ถ้าหากได้รับการฝึกจากสัตวแพทย์
คุณควรที่จะเฝ้าสังเกตอาการของแมวด้วยระหว่างที่มีการรักษา เนื่องจากถ้าหากว่าอาการที่แมวแสดงออกนั้นลดลงก็ควรที่จะต้องมีการปรับระดับขนาดอินซูลิน หรือ ไปพบสัตวแพทย์เพื่อดูว่ามีปัญหาอย่างอื่นไหม เช่น การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ หรือ เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์
และถ้าหลังจากการให้อินซูลินไปไม่กี่ชั่วโมงพบว่าแมวมีอาการทรงตัวไม่ได้ หมดสติ หรือมีอาการชัก จะเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการได้รับอินซูลินที่มากเกินไป ให้ทำการป้อนน้ำเชื่อมข้าวโพด โดยน้ำเชื่อมนี้จะไม่มีผลเสียต่อสัตว์ไม่ว่าจะได้รับในปริมาณเท่าใดก็ตาม และควรพาแมวไปพบสัตว์หรือทำการติดต่อสัตวแพทย์ตามระดับความรุนแรงของอาการ
การป้องกันโรคเบาหวานในแมว
โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ โดยไม่ควรให้แมวน้ำหนักมากจนเกินไป ควรกระตุ้นให้ออกกำลังกาย ให้อาหารที่มีความเหมาะสม และหลักเลี่ยงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ที่นานจนเกินไป
แต่ถ้าหากว่าแมวได้เป็นโรคเบาหวานแล้ว จุดประสงค์หลัก คือ จะต้องป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการสื่อสาร คุณควรที่จะพูดคุยกับสัตวแพทย์ที่ให้การรักษาว่าจะต้องทำการสังเกตการเปลี่ยนแปลงอะไร ถามเกี่ยวกับสิ่งที่คุณไม่เข้าใจเนื่องจากมีสิ่งที่ต้องรู้ค่อนข้างเยอะเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ป่วยที่เป็นเบาหวาน
การสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ละคนควรที่จะทราบว่าใครจะเป็นคนให้อินซูลินแก่แมว และให้เมือไหร่? แมวควรที่จะต้องกินอะไร? ขนมอย่างไรที่สามารถให้แมวได้? อาการของการได้รับอินซูลินเกินขนาดเป็นอย่างไร ? เป็นต้น