โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว หรือ โรคเอดส์แมว
Feline Immunodeficiency Virus Infection (FIV)
โรคเอดส์แมวเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลทำให้แมวมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยคำว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่หมายถึงการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเป็นปกติแมวที่เป็นโรคเอดส์แมวนี้ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยและยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ว่าแมวเหล่านี้จะมีโอกาสที่จะพัฒนาการติดเชื้ออื่นๆหรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ด้วย
กลุ่ม Retro virus ได้แก่ เชื้อไวรัส FIV จะเป็นไวรัสที่สามารถแทรกส่วนประกอบของสายพันธุกรรมของตัวเองเข้าไปในสายพันธุกรรม (DNA) ของตัวสัตว์เลี้ยงและสามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วย
โรคเอดส์แมวนี้เกิดจาก Lentivirus ซึ่งถือเป็นไวรัสชนิดหนึ่งของกลุ่ม Retrovirus ที่จะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีในการเจริญเติบโต ไวรัสนี้จะเคลื่อนที่ช้าและสามารถอยู่เฉยๆได้ในร่างกายก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการออกมาอีกทั้งไวรัสตัวนี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคเอดส์คน หรือ human immunodeficiency virus (HIV) อีกด้วย
การติดเชื้อ FIV นี้ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมแต่ว่าพันธุกรรมจะมีส่วนในเรื่องของความรุนแรงและความก้าวหน้าของโรค แมวที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ FIV ส่วนมากจะอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ปีและมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะมีการติดเชื้อมากขึ้นโรคเอดส์แมวนี้ถือว่าเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งจะพบมากในเพศผู้ได้บ่อยกว่าเนื่องจากแมวเพศผู้นั้นมีนิสัยที่จะก้าวร้าวกว่า และยังชอบเที่ยวนอกบ้านทำให้เพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับเชื้อไวรัส
อาการของแมวที่เป็นโรคเอดส์แมว
อาการจะมีความหลากหลายมากเนื่องจากมีการลดความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันบกพร่องนี้จะไม่สามารถแยกอาการทางคลินิกจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว felineleukemia virus (FeLV) ได้
- แมวที่ติดเชื้อนี้จะมีการแสดงอาการป่วยเล็กน้อยโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนต้นและมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร
- ต่อมน้ำเหลืองมีการขยายเล็กน้อยถึงปานกลาง
- มีการอักเสบที่เหงือก ช่องปากหรือเนื้อเยื้อรอบๆฟันซึ่งอาการนี้จะพบได้ 25 – 50 เปอร์เซ็นในแมวที่ติดเชื้อ
- อาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนต้นจะพบได้ 30เปอร์เซ็นของแมวที่ติดเชื้อ เช่นการอักเสบของจมูก การอักเสบของกระจกตา (ส่วนใสของตาที่อยู่ทางด้านหน้าของลูกตา) ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ herpes และ calicivirus ด้วย
- อาการทางตาจะพบว่ามีการอักเสบทางส่วนหน้าของลูกตา เช่นบริเวณม่านตาจะทำให้มีการเพิ่มความดันในลูกตาทำให้เกิดเป็นโรคต้อหินได้
- มีอาการของโรคไตเรื้อรังมีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่องพบประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นของแมวที่ติดเชื้อ
- มีการติดเชื้อซ้ำและเรื้อรังจากแบคทีเรียและเชื้อราที่บริเวณหูชั้นนอกและผิวหนัง
- มีอาการเป็นไข้ในช่วงระยะหลัง
- มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง(lymphoma) เป็นมะเร็งที่พัฒนามาจากเนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่ประกอบด้วยเซลล์ลิมป์โฟไซต์ที่เป็นเม็ดเลือดขาวที่มาสร้างเป็นเนื้อเยื่อน้ำเหลืองทั่วร่างกาย
- มีความผิดปกติทางระบบประสาทโดยจะไปขัดขวางกลไกการนอนหลับทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะทำให้มีความกระวนกระวายเดินไปเดินมาหรืออาจจะมีความก้าวร้าวและยังทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการมองเห็นและได้ยินซึ่งความผิดปกติเหล่านี้มักส่งผลต่อเส้นประสาทที่ขาและฝาเท้าอีกด้วย
สาเหตุ
โรคเอดส์แมวนี้สามารถติดต่อกันได้ในแมวผ่านทางการกัดหรือการข่วน
- ลูกแมวมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตั้งแต่แรกเกิดได้บ้าง
- ไม่ค่อยพบการติดต่อผ่านทางการผสมพันธุ์แต่เชื้อไวรัสนี้สามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิ
การวินิจฉัย
สัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายซักประวัติถึงอาการและความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้อง ทำการเก็บเลือดไปตรวจ ทั้งทางเคมี การนับเม็ดเลือด และการวิเคราะห์ทางปัสสาวะ ก่อนที่สัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยสุดท้าย สัตวแพทย์จะต้องทำการแยกก่อนว่าไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ปรสิต หรือมะเร็ง
การรักษา
ถ้าแมวมีภาวะขาดน้ำมากเจ้าของจะต้องให้แมวรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ถ้าไม่ได้มีถ้าไม่ได้ขาดน้ำก็สามารถนำแมวกลับบ้านได้ สิ่งแรกที่สัตวแพทย์ต้องทำคือการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มเติมเนื่องจากเชื้อที่ติดไม่ได้ทำให้เกิดโรคแต่ว่าจะทำให้แมวอ่อนแอลงจนทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนไปทั้งร่างกายได้ การผ่าตัดอาจจะจำเป็นต่อการติดเชื้อที่ฟัน หรือ การเอาก้อนเนื้อออกและจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนเรื่องอาหารการกินหลังผ่าตัดอีกด้วย
การจัดการ
ควรมีการเฝ้าสังเกตแมวอยู่เป็นประจำโดยจำนวนครั้งจะขึ้นอยู่กับการติดเชื้อแทรกซ้อนหรืออาการของโรคที่แมวแสดงออกและจะต้องระวังเรื่องการสูญเสียน้ำหนักตัวอย่างรุนแรงเป็นอย่างมากเพราะสามารถทำให้แมวตายได้แต่โดยทั่วไปแล้วยิ่งเราตรวจพบการติดเชื้อเร็วแค่ไหนโอกาสในการอยู่รอดก็ยิ่งนานมากขึ้น
ภายหลังจากการติดเชื้อประมาณ 4.5-6 ปี 20 เปอร์เซ็นต์ของแมวจะตาย แต่ว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังมีชีวิตและไม่แสดงอาการของโรคในช่วงหลังของการติดเชื้อเมื่อเริ่มมีการซูบผอมและมีการติดเชื้อมากขึ้นสัตว์จะมีชีวิตอยู่ได้น้อยกว่า 1 ปีโดยเฉพาะถ้ามีการอักเสบที่เหงือกหรือช่องปาก เพราะอาการเหล่านี้จะไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือถ้ารักษาได้ก็จะรักษาได้ยาก
การป้องกัน
การที่เราจะป้องกันแมวจากโรคนี้ได้เราจะต้องเริ่มจากการทำวัคซีนในแมวก่อนที่แมวจะสัมผัสกับเชื้อไวรัสและต้องป้องกันไม่ให้ไปสัมผัสกับแมวที่มีเชื้อ FIV ก่อนที่เราจะนำแมวใหม่เข้ามาเลี้ยงเราจะต้องมีการทดสอบและกักแมวก่อนจนมั่นใจว่าไม่มีเชื้อไวรัสแล้วจึงนำเข้ามาเลี้ยงแต่มีสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้คือ แมวบางตัวที่เมื่อทำการทดสอบเชื้อ FIV แล้วเป็นบวกนั้นอาจจะเป็นแค่พาหะของโรคได้ โดยสัตว์เหล่านี้จะไม่มีอาการของการติดเชื้อ FIV และแมวตัวที่ทำวัคซีนก็สามารถทดสอบแล้วเป็นบวกได้เหมือนกันแม้ว่าตัวนั้นจะไม่ใช่ตัวพาหะก็ตาม
ถ้าแมวทำการทดสอบแล้วพบว่าเป็นบวกเราควรจะปรึกษาสัตวแพทย์ว่าควรจะป้องกันยังไงให้ไม่ติดสู่แมวตัวอื่นและมีอาการอะไรบ้างที่ต้องทำการเฝ้าระวัง
คำถาม-คำตอบ
คำตอบสำหรับคำถามที่ถูกถามบ่อยเกี่ยวกับโรคเอดส์แมวโดย ดร.Niels Pedersen
1.ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับโรคเอดส์แมวไหม
- ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับโรคเอดส์แมวแต่จัดว่าเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับแมวซึ่งสามารถป้องกันเชื้อ FIV ได้ในแมวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเจอเชื้อไวรัสอย่างไรก็ตามแต่ก็ยังเป็นที่เถียงกันและไม่เป็นที่แนะนำนักเนื่องจากแมวที่ได้รับการทำวัคซีนเมื่อนำไปทดสอบก็จะพบว่าเป็นบวกเหมือนกับแมวที่ติดเชื้ออีกทั้งภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากการทำวัคซีนก็ไม่สามารถแยกได้กับการติดเชื้อตามธรรมชาติดังนั้นถ้าสัตวแพทย์หรือเจ้าของละเลยว่าแมวเคยทำวัคซีนมาก่อนหรือไม่อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้แม้ว่าวัคซีนนั้นจะมีประสิทธิภาพที่ดี แต่ว่าก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการฉีดให้แมวที่เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเนื่องจากการติดเชื้อส่วนมากนั้นจะถ่ายทอดในกลุ่มแมวตัวผู้ที่แย่งอาณาเขตกันและแมวที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการติดเชื้อก็คือแมวที่ยังไม่ทำหมันที่อาศัยอยู่นอกบ้านที่มีความแออัดซึ่งเป็นที่ที่ต้องแก่งแย่งกันทั้งอาหารและตัวเมีย
2.การป้องกันการติดเชื้อ FIV วิธีไหนป้องกันได้ดีที่สุด
- โดยปกติมักพบไวรัสอยู่ในน้ำลายของแมวที่ติดเชื้อซึ่งส่วนมากจะถ่ายทอดเชื้อผ่านทางการกัดแต่ก็สามารถติดทางการสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อหรือแม่แมวที่มีเชื้อแล้วส่งเชื้อให้ลูกแมวได้แมวทุกตัวควรที่จะได้รับการทดสอบ FIV เมื่อขณะยังเป็นลูกแมวหรือว่าหลังจากที่ไปสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อมาสำหรับแมวที่ทดสอบแล้วเป็นบวกควรที่จะให้แมวอยู่ในบ้านและแยกกับตัวที่ไม่ได้เป็นบวกโดยแมวที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการติดเชื้อคือแมวไปเที่ยวนอกบ้านและมีการสัมผัสกับแมวตัวอื่นอีกทางหนึ่งที่ดีสำหรับการป้องกัน คือการทำหมันแมวจะช่วยลดการต่อสู้กันและป้องกันการเข้าถึงแมวที่ติดเชื้อ FIV
3.แมวที่ติดเชื้อ FIV จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์อย่างไร
- แมวส่วนมากที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการแข็งแรง สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติแต่ว่าแมวพวกนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนและเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าไม่จำเป็นว่าเมื่อเป็นเอดส์แมวแล้วจะต้องตายเนื่องจากยังมีแมวหลายตัวที่เป็นโรคเอดส์แมวแล้วยังสามารถมีชีวิตปกติมีความสุข และแข็งแรงได้เป็นปีๆเมื่อเวลาผ่านไปเชื้อ FIV จะกดภูมิคุ้มกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นอาการที่แสดงออกทางร่างกาย ได้แก่ น้ำหนักลดมีการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือมีอาการทางระบบประสาทโดยส่วนมากจะไม่ค่อยพบแมวที่ป่วยอยู่ในระยะเฉียบพลัน ซึ่งแมวจะมีไข้ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หลอดเลือดอักเสบและมีการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดขาวซึ่งปกติแล้วเจ้าของจะไม่ค่อยสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ในระยะเฉียบพลันนี้จนเวลาผ่านไปอาจเป็นเดือนเป็นปีถึงจะพบอาการที่เป็นระยะเรื้อรังซึ่งอาการที่บ่งบอกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องคือมีการติดเชื้อที่ช่องปากและจมูกอย่างเรื้อรัง รวมถึงการติดเชื้อที่ผิวหนังและการติดเชื้อในลำไส้อีกด้วยแมวบางตัวที่ติดเชื้อนี้อาจจะมีอาการทางประสาทได้โดยจะแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
4.ระยะของโรคเอดส์แมว
- โรคเอดส์แมวจะมีทั้งหมด 3 ระยะ ระยะแรกจะอยู่ประมาณ 2-4 อาทิตย์ ซึ่งปกติแล้วอาการจะหายไปเองแต่บางทีถ้าอาการรุนแรงมากก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ระยะต่อมาจะค่อนข้างมีความหลากหลายจะเป็นระยะที่ยาวและนาน โดยถ้ามองภายนอกแมวจะแข็งแรงและระยะสุดท้าย จะอยู่ประมาณช่วง 7-10 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่บางตัวก็อาจจะพบเร็วกว่านี้ ก็จะแสดงอาการของภูมิคุ้มกันตกและมะเร็ง
5.FIV เหมือนกับ HIV อย่างไร
- FIV จะเป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าและมักเข้าสู่ระยะสุดท้ายได้ช้ากว่าส่วนของ HIV จะพบว่ามีความรุนแรงกว่าเนื่องจากมีอัตราการตายที่สูงถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
6.มีพันธุ์อะไรบ้างที่มีความไวต่อการติดเชื้อ FIV
- ไม่มี ทุกๆพันธุ์มีโอกาสติดเชื้อ FIV เท่าๆกัน
7. เชื้อ FIV สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้หรือไม่
- จากงานทดลองโดยใช้เชื้อในปริมาณที่สูง พบว่าแม่จะสามารถถ่ายทอดให้ลูกแมวได้แต่ว่ายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในธรรมชาติหรือไม่อย่างไรก็ตามลูกแมวที่เกิดมาจากแม่ที่มีเชื้อ FIV ในช่วงที่ไม่แสดงอาการเมื่อลูกแมวทำการทดสอบจะพบว่าเป็นบวกในช่วง 4-6 เดือนแรกหลังจากนั้นจะไม่เป็นบวกแล้วซึ่งน่าจะเป็นผลจากภูมิคุ้มกันจากแม่ที่อยู่ในกระแสเลือดของลูกในช่วงแรก
8. วิธีการรักษาวิธีไหนดีที่สุดสำหรับโรคเอดส์แมว
- ไม่มีการรักษาไหนที่มีความจำเพาะเจาะจงเนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับเชื้อ FIV แต่ว่าโชคดีที่ว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาตราบใดที่สัตว์ยังมีสุขภาพที่ดี เมื่อสัตว์เริ่มป่วยควรที่จะพยายามวินิจฉัยดูก่อนว่าจะมีอาการแทรกซ้อนอย่างไรแล้วทำการรักษาเท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ช่วยยืดเวลาออกไปสำหรับแมวติดเชื้อที่อยู่ในระยะสุดท้ายแต่ว่าบางเว็บไซต์มีการโน้มน้าวให้ใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันแต่ทางเราเชื่อว่าวิธีการนี้ราคาค่อนข้างแพงและไม่ได้ผลแต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือมีการศึกษาพบว่าแมวที่ติดเชื้อ FIV ที่อาศัยอยู่ในที่ที่แออัดและสกปรกจะมีอัตราการตายที่สูงกว่าแมวที่อาศัยอยู่ตามบ้านทั่วไป ทำให้เราทราบว่าความเครียดจากสภาพความเป็นอยู่ถือเป็นผลเสียต่อแมวที่ติดเชื้อ FIV การดูแลแมวภายในบ้านเห็นผลได้ดีโดยเฉพาะในเคสของแมวตัวผู้ที่ชอบออกนอกบ้านและสู้กับแมวตัวอื่นนั้นเมื่อติดเชื้อแล้วจะป่วยและไม่สามารถออกไปล่าเหยื่อได้ทำให้ร่างกายสามารถกลับมาเป็นปกติได้สามารถนำไปทำหมันจนทำให้กลับมาเป็นแมวปกติ มีชีวิตปกติได้อีกหลายปี แมวที่ติดเชื้อ FIV ควรทำการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ดิบและผลิตภัณฑ์จากนมและสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเป็นประจำเนื่องจากแมวพวกนี้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณฟันและเหงือกและจะมียาบางตัวที่สามารถช่วยกระตุ้นให้แมวตอบสนองทางภูมิคุ้มกันได้ด้วย แมวที่มีเชื้อ FIVควรอาศัยอยู่ภายในบ้านและแยกจากตัวที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
9.โรคเอดส์แมวเกิดในตัวผู้หรือตัวเมียมากกว่ากัน
- แมวตัวผู้จะติดเชื้อ FIV ได้บ่อยกว่าแมวตัวเมียเนื่องจากนิสัยของตัวผู้ที่ชอบไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน เพื่อหาตัวเมียเพื่อที่จะผสมพันธุ์หรือบางครั้งอาจมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งอาณาเขตโดยส่วนมากจะเป็นพวกแมวตัวผู้ที่ยังไม่ได้รับการทำหมัน